ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจโรค: สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก (Foreign body in the nose)  (อ่าน 55 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 129
    • ดูรายละเอียด
ตรวจโรค: สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก (Foreign body in the nose)
« เมื่อ: วันที่ 3 ตุลาคม 2024, 14:50:51 น. »
ตรวจโรค: สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก (Foreign body in the nose)

สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก มักพบในเด็กเล็กที่เล่นซนนำสิ่งแปลกปลอม (เช่น เมล็ดผลไม้ เศษอาหาร เศษยางลบ เศษกระดาษ  กระดุม ลูกปัด ชิ้นส่วนของเล่น ถ่านกระดุม เป็นต้น) แยงเข้าไปคาอยู่ในรูจมูก ภาวะนี้พบบ่อยในเด็กอายุ 2-5 ปี

เด็กโตอาจบอกพ่อแม่ได้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมติดในรูจมูก แต่เด็กเล็กที่ยังสื่อสารไม่ได้ อาจแสดงอาการกระสับกระส่าย และมีอาการผิดสังเกตอื่น ๆ

ถ้าพ่อแม่ไม่ได้สังเกตตั้งแต่แรก และปล่อยทิ้งไว้หลายวัน ก็จะทำให้เยื่อจมูกเกิดการอักเสบ และมีภาวะแทรกซ้อนตามมา


สาเหตุ

เกิดจากความไม่รู้ การเล่นซน หรือความประมาทเลินเล่อ


อาการ

เด็กจะมีอาการคัดจมูก แน่นจมูก ในข้างที่มีสิ่งแปลกปลอม (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้างเดียว) หรือหายใจผ่านรูจมูกได้สะดวกเพียงข้างเดียว หรือหายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ หรือหายใจทางปาก อาจมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวกับจมูกข้างที่มีสิ่งแปลกปลอม หรือมีอาการไอบ่อย (เนื่องจากมีน้ำมูกไหลลงคอ เกิดการระคายคอ) เด็กเล็กที่ยังสื่อสารไม่ได้ อาจแสดงอาการกระสับกระส่าย ใช้นิ้วแหย่ แคะ หรือดันจมูกบ่อย ๆ

ในระยะแรกอาจมีอาการของเหลวคล้ายน้ำมูกไหลออกจากจมูก อาจมีลักษณะใส หรือสีเทา หรือมีเลือดปน หรือมีเลือดกำเดาไหล ต่อมาจะมีอาการหายใจมีกลิ่นเหม็น และจมูกข้างที่มีสิ่งแปลกปลอม (มักเป็นข้างเดียว) มีน้ำมูกข้นสีเหลืองหรือเขียว หรือมีลักษณะเป็นหนองหรือเลือดปนหนอง และอาจมีไข้ร่วมด้วย


ภาวะแทรกซ้อน

หากปล่อยไว้มักทำให้เยื่อจมูกอักเสบเป็นหนอง และอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น แผลที่เยื่อเมือกจมูก ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน เนื้อเยื่อรอบกระบอกตาอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

ถ้าสิ่งแปลกปลอมหลุดลงไปในหลอดลม ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในหลอดลมและปอด เช่น ปอดอักเสบ หลอดลมพอง ปอดแฟบ ฝีในปอด เป็นต้น

สำหรับสิ่งแปลกปลอมที่เป็นถ่านกระดุม (button battery ซึ่งใช้กับของเล่นและอุปกรณ์ต่าง ๆ) หากปล่อยไว้สารเคมีในถ่านอาจรั่วไหลออกมาทำลายเนื้อเยื่อในโพรงจมูก เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น แผลที่เยื่อเมือกจมูกหรือผนังจมูก ผนังจมูกทะลุ โพรงจมูกตีบ ปีกจมูกยุบ เป็นต้น อันตรายจากถ่านกระดุมนี้มักเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมง (อาจพบได้เร็วสุดหลังเกิดเหตุเพียง 1-2 ชั่วโมง)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

ตรวจพบจมูกข้างหนึ่งมีของเหลวคล้ายน้ำมูกไหล หรือมีน้ำมูกข้นสีเหลืองหรือเขียว หรือมีลักษณะเป็นหนองหรือเลือดปนหนอง หรือมีเลือดกำเดาไหล บางรายอาจตรวจพบอาการที่จมูกทั้ง 2 ข้าง หายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ หรือมีไข้

เมื่อเอาไฟฉายส่องดู อาจพบสิ่งแปลกปลอมคาอยู่ในรูจมูกจมูกข้างหนึ่ง

ในรายที่จำเป็นต้องวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ ใช้กล้องส่องตรวจจมูก (rhinoscopy) เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

1. เอาสิ่งแปลกปลอมออก 

    หากสิ่งแปลกปลอมอยู่ไม่ลึก ใช้ลวดเล็ก ๆ ตรงปลายงอเล็กน้อยแยงรอดใต้สิ่งแปลกปลอมจนพ้นขอบหลังสุด แล้วเกี่ยวเอาออก
    ถ้าสิ่งแปลกปลอมอยู่ลึก ใช้เครื่องมือจับ คีบ เขี่ย หรือดูดออก 

2. ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ, อะม็อกซีซิลลิน, ร็อกซิโทรไมซิน หรือโคไตรม็อกซาโซล นาน 7-10 วัน

ผลการรักษา ส่วนใหญ่สามารถเอาสิ่งแปลกปลอมออกและไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมา ส่วนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปล่อยให้สิ่งแปลกปลอมคาอยู่นาน เกิดจากถ่านกระดุมเข้าจมูก หรือสิ่งแปลกปลอมหลุดลงไปในหลอดลม มักมีความยุ่งยากในการรักษา และอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้


การดูแลตนเอง

1. หากพบตั้งแต่แรก ยังไม่มีอาการผิดปกติ และมองเห็นสิ่งแปลกปลอมอยู่ตื้น ๆ ให้ทำการปฐมพยาบาลดังนี้

    ให้เด็กสั่งน้ำมูกแรง ๆ โดยปิดรูจมูกข้างที่ปกติ หรือใช้ปากคีบหรือแหนบค่อย ๆ คีบวัตถุนั้นออก ระวังอย่าดันให้วัตถุลึกเข้าไปในจมูก ห้ามใช้นิ้วมือ ไม้พันสำลี หรืออุปกรณ์ใด ๆ พยายามเขี่ยเอาสิ่งแปลกปลอมออก เพราะอาจดันให้สิ่งแปลกปลอมลึกเข้าไป
    ถ้าเด็กอยู่ไม่นิ่ง หรือไม่ให้ความร่วมมือ หรือทำการปฐมพยาบาลดังกล่าวไม่ได้ผล ควรไปพบแพทย์

2. ควรรีบไปพบแพทย์ ถ้าพบว่าสิ่งแปลกปลอมอยู่ลึก หรือไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม หรือมีอาการน้ำมูกเป็นหนองมีกลิ่นเหม็น ควรไปพบแพทย์ด่วน ถ้าเกิดจากถ่านกระดุมเข้าจมูก

ทำการดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ ไปพบแพทย์ตามนัด และกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการผิดปกติ (เช่น มีไข้ ปวดจมูก มีน้ำมูกเป็นหนองหรือมีเลือดออก) หรือสงสัยเกิดอาการข้างเคียงจากยาที่รักษา


การป้องกัน

คอยระมัดระวัง เก็บเศษวัตถุ (รวมทั้งถ่านกระดุม) ทิ้ง ไม่ให้เด็กหยิบได้

ห้ามปรามและคอยเฝ้าระวังไม่ให้เด็กเล็กเล่นซนเอาสิ่งแปลกปลอม (เช่น เมล็ดผลไม้ เศษอาหาร เศษยางลบ กระดุม ลูกปัด) แหย่ใส่เข้าไปในจมูก


ข้อแนะนำ

หากมีอาการน้ำมูกเป็นหนองมีกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในเด็กเล็ก อาจเกิดจากสิ่งแปลกปลอมเข้าจมูกได้ ควรพบแพทย์เพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออก