ผู้เขียน หัวข้อ: ไวรัสตับอักเสบอี (Hepatitis E Virus)  (อ่าน 3 ครั้ง)

siritidaphon

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 51
    • ดูรายละเอียด
ไวรัสตับอักเสบอี (Hepatitis E Virus)
« เมื่อ: วันที่ 5 กันยายน 2024, 16:57:48 น. »
ไวรัสตับอักเสบอี (Hepatitis E Virus)

ไวรัสตับอักเสบอี พบการระบาดครั้งแรกในประเทศอินเดีย แต่ปัจจุบันสามารถพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีได้ทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว โดยสายพันธุ์ที่พบในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันออกไป ไวรัสตับอักเสบอีมีทั้งหมด 8 สายพันธุ์ แต่มี 4 สายพันธุ์ที่ก่อโรคในคน ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 1, 2, 3 และ 4


การติดต่อ

ไวรัสตับอักเสบอีติดต่อผ่านการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด การระบาดของไวรัสตับอักเสบอีสายพันธุ์ที่ 1 และ 2 มักเกิดในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากมาตรฐานความสะอาด มีการปนเปื้อนของอุจจาระในน้ำดื่ม เช่น ตามหลังการเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม แล้วเผลอนำอุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก (Fecal oral route) ส่วนไวรัสตับอักเสบอีสายพันธุ์ที่ 3 และ 4 พบได้มากกว่าในประเทศไทยและประเทศพัฒนาแล้ว ติดต่อผ่านการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อหมู เนื่องจากหมูสามารถติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีได้ ส่วนการติดต่อของไวรัสตับอักเสบอีจากคนสู่คนและจากแม่สู่ลูกนั้นพบได้น้อยมาก


อาการแสดง

เมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 2-10 สัปดาห์ ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีส่วนมากมักไม่มีอาการ (Asymptomatic) และสามารถหายเองได้ (Self-limiting) ส่วนอาการอื่นที่พบได้ เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย (Flu-like symptom) เบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม คันตามตัว ในบางรายอาจเกิดตับอักเสบ ตับวายเฉียบพลันได้ ส่วนการเกิดตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบอีพบได้น้อย และพบในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีสายพันธุ์ที่ 3 และ 4 ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเท่านั้น เช่น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างให้ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยเอชไอวี เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถกำจัดเชื้อเองได้

อาการแสดงของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีแตกต่างกันไปตามอายุ ลักษณะของผู้ป่วย ผู้ป่วยเด็กอาการมักไม่รุนแรง ในขณะที่หญิงตั้งครรภ์อาจมีอาการรุนแรงเกิดตับวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร


การวินิจฉัย

ปัจจุบันจึงใช้การตรวจทาง Serology หาแอนตี้บอดี้ต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบอีในเลือด (Anti-HEV IgM และ IgG) เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยการติดเชื้อ

การวินิจฉัยหลักคือการยืนยันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีได้โดยการตรวจหาปริมาณไวรัส (HEV RNA) ด้วยวิธี Polymerase chain reaction (PCR) แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในการตรวจ สามารถส่งตรวจได้เฉพาะโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบางแห่ง จึงไม่เป็นที่นิยมใช้ในทางคลินิก


การรักษา

โดยทั่วไปการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีสามารถหายเองได้ การรักษาจึงเป็นการรักษาประคับประคอง ให้ยาตามอาการ เช่น รับประทานอาหารอ่อน สุกสะอาด ให้ยาแก้อาเจียนหากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังการเกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน ส่วนผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีเรื้อรัง อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส


การป้องกัน

เนื่องจากไวรัสตับอักเสบอีติดต่อผ่านการรับประทานอาหารที่ไม่สุกสะอาด น้ำดื่มที่มีการปนเปื้อน การป้องกันจึงทำได้โดยรักษาสุขอนามัย รับประทานอาหารปรุงสุก น้ำต้มสุก

ส่วนวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบอีมีประสิทธิภาพดี สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 87% แต่ปัจจุบันมีใช้ในประเทศจีนเท่านั้น